ชาวพยู เป็นชนชาติที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนชาวพม่าดั้งเดิม แต่นักวิชาการบางท่านก็ว่า ชาวพยู เป็นชาวพม่าแท้จริง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยอาชีพหลักของชาวพยู คือ การทำเกษตรกรรม ที่ดินในบริเวณที่ชาวพยูตั้งถิ่นฐานอยู่นั้นมีลักษณะเป็นที่ราบสูง ถึงแม้จะมีแม่น้ำไหลผ่านแต่ในหน้าร้อนก็แห้งเหือด แต่ชาวพยูก็มีความสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายได้ โดยการทำวิธีการผันน้ำจากแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสายรอง เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำเกษตรกรรม และยังมีการขุดคูคลองรอบๆ เมืองพร้อมอ่างเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้น้ำในยามหน้าแล้ง
อาณาจักรศรีเกษตรนี้ได้รับอิทธิพลในเรื่องของภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย โดยศูนย์กลางหลักของอาณาจักรนี้ตั้งอยู่ที่เมืองศรีเกษตร ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอาณาจักร แน่นอนว่า ศรีเกษตรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกล่าสุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ร่องรอยอารยธรรมบริเวณใกล้เคียงศรีเกษตรอย่างเมืองเบคถาโน และเมืองฮาลิน ซึ่งทั้ง 3 เมือง ได้ถูกผนึกรวมกันแล้วขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งแรกของพม่า ในชื่อ เมืองโบราณอาณาจักรพยู
แต่ในปัจจุบันนี้ทั้งศรีเกษตร เบคถาโน และฮาลิน แทบจะไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่ในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีเพียงซากปรักหักพังของโบราณสถาน เพราะยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือเจดีย์ ซากเมืองโบราณ คูน้ำ กำแพงเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ปัจจุบันนี้แหล่งโบราณคดีเมืองเก่าของชาวพยูคงจะได้รับการดูแลที่ดีขึ้นจาก Unesco และประเทศพม่าเอง เพราะต่อไปนี้เมืองโบราณแห่งนี้ ไม่ได้เป็นสมบัติของพม่าประเทศเดียวแล้ว แต่นับต่อจากนี้ เมืองเก่านับพันปีแห่งนี้จะเป็นสมบัติของคนทั้งโลกที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาสืบต่อไป